ศูนย์กลางความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยข้าวของประเทศไทย มุ่งเน้นการสร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือทั้งภายในและต่างประเทศเพื่อนำงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวสู่การใช้ประโยชน์ และเพื่อดำเนินการรวบรวมองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าว รวมถึงการเชื่อมโยงกลุ่มนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ จากภายในประเทศและต่างประเทศ จำนวน 52 หน่วยงาน 42 สถาบัน จาก 21 ประเทศ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวและการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากข้าว โดยการบูรณาการจากศาสตร์หลากหลายแขนงด้วยกัน จากความร่วมมือของสถาบันที่มีบทบาทสำคัญในการวิจัยด้านข้าว กิจกรรมของ Hub of Knowledge จะการดำเนินงานใน 4 ด้านใหญ่ ๆ ซึ่งครอบคลุมทุกมิติดังนี้
Frontier research: การสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้และการศึกษาเชิงลึกทางด้านวิทยาศาสตร์ข้าว เช่น คุณสมบัติทางชีวเคมี หรือลักษณะสรีรวิทยา การศึกษาทางด้านชีวสารสนเทศ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว การพัฒนาระบบฐานข้อมูลและคลังความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ข้าวและฐานข้อมูลเชื้อพันธุกรรมข้าว เพื่อการปรับปรุงพันธุ์ข้าวของประเทศไทย
Rice breeding: การสนับสนุนการพัฒนาพันธุ์ข้าวออกแบบได้(breeding-by-design) ที่พร้อมรับมือกับสภาวะโลกรวน (climate change) มีผลผลิตสูงและมีคุณค่าทางโภชนาการ และพันธุ์ข้าวที่สามารถใช้ในการเป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมหรือเพื่อการแปรรูป การใช้ประโยชน์เชื้อพันธุกรรมข้าวพื้นเมืองในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่มีคุณสมบัติเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่แตกต่างกัน เช่น ข้าวสำหรับผู้ป่วยโรคไต ข้าวสำหรับผู้ป่วยเบาหวาน การพัฒนาพันธุ์ข้าวสำหรับใช้เป็นวัตถุดิบในอุตสาหกรรมอาหารสัตว์ เป็นต้น
Product development: การสนับสนุนการต่อยอดการพัฒนาผลิตภัณฑ์จากข้าวเพื่อให้สามารถเก็บรักษาคุณค่าทางโภชนาการของข้าวพันธุ์ใหม่ที่พัฒนาขึ้นรวมถึงตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคในปัจจุบันที่ให้ความสำคัญด้านสุขภาพมากขึ้น และการส่งเสริมนำข้าวพันธุ์ใหม่ๆไปใช้ประโยชน์ในทางอุตสาหกรรม เพื่อเพิ่มมูลค่าและคุณค่าของข้าวไทย
Capacity building: การส่งเสริมการสร้างเครือข่ายนักวิจัยและนักปรับปรุงพันธุ์ข้าวระดับชาติและนานาชาติ การจัดอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ในทุกระดับ การจัดประชุมงานวิจัยข้าวระดับชาติและนานาชาติ การสร้างฐานข้อมูลเครือข่ายผู้เชี่ยวชาญ นักวิจัย และนักปรับปรุงพันธุ์ข้าวของประเทศ
วัตถุประสงค์
1. เพื่อเป็นศูนย์กลางความร่วมมือและเครือข่ายนักวิจัยและนักปรับปรุงพันธุ์ข้าวในประเทศและนานาชาติ ในการพัฒนาพันธุ์ข้าวอย่างแม่นยำและรวดเร็วด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของพันธุ์ข้าวไทย
2. เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านข้าวในการสนับสนุนและผลักดันให้เกิดการใช้ประโยชน์ผลงานวิจัยและนวัตกรรมทั้งในระดับชาติและระดับสากล
3. เพื่อสร้างฐานข้อมูลองค์ความรู้ด้านงานวิจัยข้าวของประเทศไทยและฐานข้อมูลพันธุ์ข้าว สำหรับต่อยอดเพิ่มศักยภาพการผลิตข้าวตลอดจนการแปรรูปเพิ่มมูลค่า
4. เพื่อเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อโจทย์ความต้องการจากภาคเกษตรกรสู่การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่เกิดประโยชน์สูงสุด
5. เพื่อเป็นศูนย์บ่มเพาะด้านเทคโนโลยีสมัยใหม่ให้กับนักวิชาการข้าว นักปรับปรุงพันธุ์ข้าว ชาวนา และการถ่ายทอดสู่ผู้ประกอบการ
หลักการและเหตุผล
“ข้าว” เป็นอาหารหลักของครึ่งหนึ่งของประชากรโลก โดยเฉพาะประชากรในทวีปเอเชีย ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวที่สำคัญของโลก โดยปี 2563/2564 ประเทศไทยมีผลผลิตข้าวสูงเป็นอันดับ 6 ของโลก คิดเป็น 3.7% ของผลผลิตข้าวทั่วโลก (รองจากจีน อินเดีย อินโดนีเซีย บังคลาเทศ และเวียดนามซึ่งมีสัดส่วนผลผลิต 29.3%, 24.1%, 7.0%, 6.8% และ 5.4% ตามลำดับ) และไทยเป็นผู้ส่งออกข้าวอันดับ 3 ของโลก มีส่วนแบ่งตลาดคิดเป็น 11.9% รองจากอินเดียและเวียดนามซึ่งมีส่วนแบ่งการตลาด 38.9% และ 12.9% ตามลำดับ ถึงแม้ว่าประเทศไทยเป็นประเทศผู้ผลิตและส่งออกข้าวที่สำคัญของโลก แต่ชาวนาไทยกลับมีรายได้เฉลี่ยจากการทำนาต่ำที่สุด โดยชาวนาไทยยากจนที่สุดในเอเชียและในอาเซียน เมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่งสำคัญอย่างอินเดีย เวียดนาม และเมียนมา ทั้งนี้ เนื่องมาจากหลายปัจจัย เช่น มีต้นทุนการผลิตอยู่ในระดับสูงมาก แต่ศักยภาพการผลิตต่ำ ข้าวไทยปัจจุบันยังมีผลผลิตต่อไร่ต่ำ โดยมีผลผลิตต่อไร่เฉลี่ยเพียง 450 กก.ต่อไร่ ซึ่งถือว่าต่ำที่สุดเมื่อเปรียบกับประเทศผู้ผลิตข้าวที่สำคัญอื่นๆ เช่น เวียดนาม ซึ่งมีผลผลิตอยู่ที่ 1,000 กก.ต่อไร่ อย่างไรก็ตาม งบประมาณในการวิจัยและพัฒนาข้าวของไทยมีเพียงปีละ 200 ล้านบาท ซึ่งถือว่าต่ำมากเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศผู้ผลิตข้าวที่สำคัญอื่น ๆ เช่น เวียดนามมีงบประมาณ 3,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนจีน อินเดีย ญี่ปุ่น มีไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อปี นอกจากนี้ ทิศทางในการพัฒนาพันธุ์ข้าวยังไม่ตอบโจทย์ความต้องการของชาวนา ผู้ส่งออกและอุตสาหกรรมข้าว และยังขาดการถ่ายทอดเทคโนโลยีให้ถึงมือผู้ประกอบการและเกษตรกร
งานวิจัยและวิทยาศาสตร์ด้านข้าวในประเทศไทยถือได้ว่ามีความก้าวหน้าเป็นอย่างมาก มีการสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ และประยุกต์ใช้องค์ความรู้ด้านต่าง ๆ รวมถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ในการพัฒนาพันธุ์ข้าวและการผลิตข้าว โดยในปัจจุบันจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ออกแบบได้ เช่น พัฒนาให้มีรูปลักษณ์ ลักษณะ และสรีรวิทยาของข้าวที่มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น เพื่อพร้อมต่อการเปลี่ยนแปลงในภาวะโลกรวน (climate change) มีการใช้ความรู้ที่บูรณาการระหว่างความต้านทานชนิดต่างๆ (Phenomics) และความรู้ด้านจีโนม (Genomics) ในเชิงลึก มาถอดรหัสเป็น Big Data เพื่อนำมาสร้างเป็น Breeding Models ที่ช่วยในการออกแบบพันธุ์ข้าวใหม่เพื่อเพิ่มการปรับตัวสภาพแวดล้อม ต้านทานโรคแมลง และมีคุณค่าทางโภชนาการในระดับสูงขึ้น งานวิจัยด้านข้าวของประเทศไทยเป็นที่รู้จักกันในระดับนานาชาติ ประเทศไทยเป็นหนึ่งใน 11 ประเทศที่ร่วมกันถอดรหัสจีโนมข้าว ในโครงการ Rice Genome Project และเป็นประเทศแรกที่ค้นพบยีนที่ควบคุมลักษณะความหอม นอกจากนี้ ประเทศไทยได้เคยเป็นเจ้าภาพในการจัดงานประชุมวิชาการนานาชาติด้านข้าวอยู่หลายครั้ง เช่น ISRFG ครั้งที่ 10 (2012) และ ISRFG ครั้งที่ 19 (2022)
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากปัจจุบันงานวิจัยต่าง ๆ ด้านข้าวในประเทศไทย มีการดำเนินงานอยู่ในหลายหน่วยงาน ทั้งมหาวิทยาลัยและสถาบันวิจัยทั้งภาครัฐและเอกชน แต่ยังขาดศูนย์กลางที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญและองค์ความรู้ต่าง ๆ ทางด้านข้าว ดังนั้น เพื่อให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้และงานวิจัยที่กำลังดำเนินอยู่ในองค์กรต่างๆ จึงเสนอการพัฒนา “ศูนย์กลางความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัยข้าวของประเทศไทย” ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างภาคีเครือข่ายความร่วมมือทั้งภายในและต่างประเทศเพื่อนำงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าวสู่การใช้ประโยชน์ และเพื่อดำเนินการรวบรวมองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าว รวมถึงการเชื่อมโยงกลุ่มนักวิจัย ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ด้านการปรับปรุงพันธุ์ข้าว โดยการบูรณาจากศาสตร์หลากแขนงด้วยกัน จากความร่วมมือของ สถาบันที่มีบทบาทสำคัญในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว โดยศูนย์ฯ ที่เสนอนี้จะประกอบไปด้วยอาจารย์และนักวิจัยจากหลากหลายสถาบันวิจัยในประเทศไทย ซึ่งมีผลงานวิจัยด้านข้าวเป็นที่ประจักษ์ คณะทำงานภายใต้ศูนย์ฯ มีความเชี่ยวชาญด้านข้าวในหลากหลายมิติ ทั้งในด้านการปรับปรุงพันธุ์ และการบูรณาการศาสตร์ต่าง ๆ ทั้งทางด้านสรีรวิทยา โรคพืช กีฏวิทยา ปฐพีวิทยา ชีวสารสนเทศ เป็นต้น นอกจากนี้ยังรวมถึงวิทยาการด้านการแปรรูปและพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารเพื่อสุขภาพจากข้าว และมีความพร้อมในการการส่งเสริมและการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านข้าวในทุกระดับ โดยคณะทำงานของศูนย์ฯ มุ่งมั่นที่จะร่วมมือกันในการพัฒนาและถ่ายทอดองค์ความรู้ในการปรับปรุงพันธุ์ข้าว การใช้ประโยชน์จากเชื้อพันธุกรรมข้าวพื้นเมือง การยกระดับมาตรฐานการผลิต การเพิ่มผลผลิต และสร้างมูลค่าเพิ่มทางโภชนาการในเมล็ดข้าว เพื่อเพิ่มเสถียรภาพด้านราคาและมูลค่าของข้าวไทยในตลาดโลก ซึ่งไม่เพียงเน้นการขายข้าวราคาถูกในปริมาณมาก ๆ เพียงอย่างเดียว แต่จะต้องมีการขายข้าวระดับพรีเมี่ยมที่มีราคาจำหน่ายสูง เช่น ข้าวที่มีคุณค่าทางโภชนาการสูง เป็นที่ต้องการของตลาดและเทรนด์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปใส่ใจในเรื่องสุขภาพกันมากขึ้น ทั้งหมดทั้งมวลเพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของชาวนาไทยให้ดีขึ้น