การอบรมถ่ายทอดองค์ความรู้ภายใต้โครงการ “การใช้พหุเทคโนโลยีและนวัตกรรมขับเคลื่อน BCG Model ยกระดับเศรษฐกิจชุมชนฐานการผลิตข้าวรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแบบยั่งยืน” ณ หอประชุม ที่ว่าการอำเภอ สามง่าม จังหวัดพิจิตร มีผู้เข้าร่วมประชุมจำนวนทั้งหมด 132 คนจาก 2 ตำบล คือ ตำบล กำแพงดิน และ ตำบล รังนก อ.สามง่าม จังหวัดพิจิตร โดยมีเป้าหมายการถ่ายทอดองค์ความรู้ในเรื่องสำคัญต่อเรื่องการผลิตข้าวแบบยั่งยืน และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ได้แก่ 1. นวัตกรรมพันธุ์ข้าวทางเลือกใหม่ที่รองรับสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลง (Climate Change) 2. เทคโนโลยีการผลิตข้าวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (ข้าวคาร์บอนต่ำ) 3. เทคโนโลยีการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวคุณภาพดี และ 4. เรื่อง แอปพลิเคชัน/ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ทางการเกษตร เช่น ไลน์บอทโรคข้าว
จากการประเมินความรู้ของเกษตรกรก่อนและหลังการอบรมในหัวข้อการผลิตข้าวแบบยั่งยืนและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ พันธุ์ข้าวทางเลือกใหม่ การผลิตเมล็ดพันธุ์ เทคโนโลยีลดคาร์บอน และการใช้แอปพลิเคชัน พบว่า ก่อนอบรม เกษตรกรมีความรู้รวมเพียง 53.6% โดยเฉพาะในด้านการจำแนกชั้นเมล็ดพันธุ์ (10.6%) และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (30.3%) ยังอยู่ในระดับต่ำ ส่วนความรู้ด้านการผลิตเมล็ดพันธุ์ใช้เอง (93.2%) และพันธุ์ข้าวหอมสยาม (67.4%) อยู่ในระดับสูงกว่าด้านอื่นๆ
หลังอบรม เกษตรกรมีความรู้เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนเป็น 92.8% โดยเฉพาะด้านพันธุ์ข้าวใหม่ (97.5%) การผลิตเมล็ดพันธุ์ (91.5%) ความเข้าใจเรื่องสภาพภูมิอากาศ (90.5%) และการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล (90.9%) แสดงให้เห็นถึงประสิทธิผลของการอบรมในการยกระดับความรู้เพื่อการผลิตข้าวอย่างยั่งยืน.
ช่วงบ่ายได้ลงพื้นที่ติดตามแปลงทดสอบข้าวพันธุ์ “หอมชลสิทธิ์ 2” ณ โรงสีบริษัท TBS Ricemill อำเภอสามง่าม จังหวัดพิจิตร ซึ่งเป็นแปลงผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวจำนวน 89 ไร่ ปักดำเมื่อวันที่ 28 มกราคม 2568 โดยมีแผนขยายพื้นที่ปลูกเพื่อทดลองตลาดทั้งในและต่างประเทศ รวมประมาณ 3,000 ไร่ คาดว่าจะได้ผลผลิตประมาณ 2,700 ตัน ในช่วงปลายปี

จากนั้น ได้เข้าเยี่ยมชมศูนย์ข้าวชุมชน ตำบลหนองโสน ซึ่งมีสมาชิก 35 คน และพื้นที่เพาะปลูก 370 ไร่ ปลูกข้าวพันธุ์ กข 79 โดยมีแผนนำพันธุ์ “ข้าวหอมชลสิทธิ์ 2” มาใช้ในการผลิตและสร้างเครือข่ายเมล็ดพันธุ์คุณภาพดี เพื่อให้สมาชิกใช้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมกับพื้นที่ กลุ่มมีโรงสีข้าวขนาดเล็กและบรรจุภัณฑ์จำหน่ายภายใต้แบรนด์ “โสนรวงทอง” พร้อมทั้งมีแนวคิดพัฒนาและต่อยอดผลผลิตข้าวเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูป เช่น ขนมคุกกี้ เพื่อเพิ่มมูลค่า โดยได้รับคำแนะนำจากเจ้าหน้าที่กรมการข้าว หน่วยงานเกษตรในพื้นที่ และอาจารย์จากมหาวิทยาลัยนเรศวร ทั้งนี้ กลุ่มยังขาดอุปกรณ์การผลิต แต่มีความพร้อมในการเรียนรู้และพัฒนาสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูงในอนาคต
